โครงการไฟฟ้าพลังงานน้ำ ศูนย์การเรียนรู้ชุมชนบนพื้นที่สูงบ้านแม่ดึ๊ ต.แม่คง อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน

ความสำคัญและที่มาของโครงการ

     ศูนย์การเรียนชุมชนบนพื้นที่สูง บ้านแม่ดิ๊ เป็นโครงการภายใต้โครงการพระราชดำริ ของพระบาทสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ตั้งอยู่ที่ หมู่ 5 ต.แม่คง อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน มีภารกิจในการจัดการเรียนการสอนในระดับเด็กเล็กให้กับชนกลุ่มน้อย พื้นที่ชายแดนระหว่างไทย-พม่า ปัจจุบันมีนักเรียน เตรียมความพร้อมจนถึงระดับประถมศึกษาปีที่ 6 จำนวน 30 คน ผู้เรียนการศึกษาผู้ใหญ่ จำนวน 15 คน มีประชากรทั้งสิ้น 25 หลังคาเรือน จำนวนประชากรทั้งสิ้น 108 คน ภายในชุมชมมีวัด เป็นศูนย์รวมจิตใจของชุมชน และประชากรในหมู่บ้านไม่สามารถอ่าน-เขียน ภาษาไทยได้

     ในปี 2554 มหาวิทยาลัยแม่โจ้ โดยชมรมอาสาพัฒนาแม่โจ้ ได้รับงบประมาณจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ในการจัดทำโครงการจัดทำประปาภูเขาและไฟฟ้าพลังน้ำ ใช้สำหรับศูนย์การเรียนชุมชนบนพื้นที่สูง บ้านแม่ดิ๊ แต่ด้วยปัจจุบันระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานน้ำดังกล่าว ได้ชำรุดบางส่วนรวมทั้งฝายกักเก็บน้ำสำหรับเป็นแหล่งน้ำสำหรับผลิตไฟฟ้า ชำรุดเช่นเดียวกัน จึงทำให้ศูนย์การเรียนฯ มีไฟฟ้าไม่เพียงพอสำหรับการใช้ในการจัดการเรียนการสอน นอกจากนั้นแล้ว มหาวิทยาลัยฯ และศูนย์การเรียนฯ ยังเห็นว่าชุมชนที่อยู่รอบข้างศูนย์การเรียนฯ จำนวน 25 ครัวเรือน ยังไม่มีระบบไฟฟ้าใช้ในหมู่บ้านเช่นเดียวกัน ซึ่งถ้าสามารถขยายการกำลังการผลิตไฟฟ้า และต่อสายส่งไปยังหมู่บ้านฯ จะสามารถขยายการเรียนรู้ภาษาไทยไปสู่ชุมชนให้สามารถเรียน และอ่าน-เขียนภาษาไทย ได้

     ดังนั้น เพื่อเป็นการสนองพระราชดำริ ของพระบาทสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในการขยายการเรียนรู้ภาษาไทย วัฒนธรรมของประเทศไทยสู่ชุมชมตามแนวชายแดนไทย-พม่า ในการนี้มหาวิทยาลัยแม่โจ้ โดยวิทยาลัยพลังงานทดแทนร่วมกับศูนย์ศิลปวัฒนธรรม จึงได้จัดทำโครงการนี้ขึ้นเพื่อให้นักศึกษาและบุคลากร ได้นำความรู้มาบูรณาการสู่ชุมชน อีกทั้งยังเป็นการพัฒนานักศึกษาให้มีคุณภาพ มีคุณธรรมจริยธรรม มีความเป็นผู้นำ และทำให้นักศึกษาเกิด “ทักษะวิชาชีพและวิชาชีวิต” จากการปฏิบัติงานจริงในท้องถิ่นทุรกันดาร พื้นที่ขาดแคลนและตอบสนองความต้องการความจำเป็นต่อชีวิตของพี่น้องชุมชนบ้านแม่ดิ๊ ซึ่งทักษะเหล่านี้จะทำให้นักศึกษาเป็นนักบริหารจัดการ ผู้นำ นักพัฒนา เป็นแบบอย่างที่ดีให้สังคมชื่นชมและศรัทธา ตามอัตลักษณ์ของมหาวิทยาลัยแม่โจ้ คือ “อดทน เข้มแข็ง ใฝ่รู้ มีคุณธรรม จริยธรรม”

วัตถุประสงค์

  1. เพื่อเพื่อพัฒนาศักยภาพนักศึกษาให้มีทักษะวิชาชีพและวิชาชีวิต โดยการจัดค่ายอาสาพัฒนาและขยายกำลังการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำและประปาภูเขา
  2. เพื่อส่งเสริมให้นักศึกษามีโอกาสประสบการณ์ภาคสนามและให้บริการวิชาการและแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของชุมชน
  3. เพื่อส่งเสริมให้นักศึกษาเป็นบัณฑิตตามอัตลักษณ์มหาวิทยาลัยแม่โจ้  

กิจกรรมที่ดำเนินงานในโครงการ

     1. กิจกรรมการจัดเตรียม ออกแบบอุปกรณ์ไฟฟ้าแสงสว่างสำหรับชุมชน

          คณะผู้ดำเนินงานโครงการได้ร่วมกันจัดเตรียม ออกแบบอุปกรณ์ไฟฟ้าแสงสว่างสำหรับชุนชน ดังแสดงในรูปที่ 2-3 ก่อนนำไปถ่ายทอดเทคโนโลยีให้แก่ศูนย์การเรียนรู้ชุมชนบนพื้นที่สูง และชุมชนบ้านแม่ดึ๊ ต.แม่คง อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน ในวันที่ 3-7 ตุลาคม 2557 กิจกรรมนี้ช่วยให้นักศึกษาสาขาพลังงานทดแทนมีส่วนร่วมในการผลิตอุปกรณ์  ได้ออกแบบ เสนอความคิดเห็น ในการดำเนินงานเพื่อพัฒนาศักยภาพนักศึกษาให้มีทักษะวิชาชีพและให้มีความรับผิดชอบในการทำงานและแก้ไขปัญหาโดยมี อ.ดร.ยิ่งรักษ์ อรรถเวชกุล และ ผศ.ดร.ธงชัย มณีชูเกตุ เป็นผู้ควบคุมการออกแบบ

 

     2. กิจกรรมการถ่ายทอดเทคโนโลยีโครงการไฟฟ้าพลังงานน้ำว่างสำหรับชุมชน

          คณะผู้วิจัยได้เดินทางเพื่อดำเนินงานการถ่ายทอดเทคโนโลยีโครงการไฟฟ้าพลังงานน้ำ ให้แก่ศูนย์การเรียนรู้ชุมชนบนพื้นที่สูงบ้านแม่ดึ๊ ต.แม่คง อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน เมื่อวันที่ 3-7 ตุลาคม 2557 โดยเริ่มจากกิจกรรมประชุมคณะผู้ดำเนินงาน และผู้เกี่ยวข้องเพื่อเตรียมความพร้อมในการดำเนินงาน และลงพื้นที่งานซ่อมแซมและติดตั้งอุปกรณ์ของโครงการ ดังรูปที่ 4 จากนั้นคณะผู้ดำเนินงานได้ร่วมกันซ่อมแซมระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานน้ำและซ่อมแซมฝายกักเก็บน้ำสำหรับเป็นแหล่งน้ำสำหรับผลิตไฟฟ้าให้สามารถใช้งานได้ตามปกติ ดังรูปที่ 5-6 และร่วมกันเดินสายเพื่อขยายกำลังการผลิตไฟฟ้า และต่อสายส่งไปยังหมู่บ้าน ติดตั้งอุปกรณ์ไฟฟ้าแสงสว่างสำหรับชุนชน ดังรูปที่ 7-8 ชุมชนสามารถใช้ระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานน้ำของโครงการ และฝายกักเก็บน้ำสำหรับเป็นแหล่งน้ำสำหรับผลิตไฟฟ้าให้แก่ชุมชนบนพื้นที่สูงบ้านแม่ดึ๊ เพื่อให้ชุมชนสามารถมีไฟฟ้าใช้ในตอนกลางคืน และสามารถขยายการเรียนรู้ภาษาไทยไปสู่ชุมชนให้สามารถเรียน และอ่าน-เขียนภาษาไทยได้ อีกทั้งการดำเนินงานยังเป็นการพัฒนานักศึกษาให้มีคุณภาพ มีคุณธรรมจริยธรรม มีความเป็นผู้นำ และทำให้นักศึกษาเกิด “ทักษะวิชาชีพและวิชาชีวิต” จากการปฏิบัติงานจริงในท้องถิ่นทุรกันดาร พื้นที่ขาดแคลนและตอบสนองความต้องการความจำเป็นต่อชีวิตของพี่น้องชุมชนบ้านแม่ดิ๊ ซึ่งทักษะเหล่านี้จะทำให้นักศึกษาเป็นนักบริหารจัดการ ผู้นำ นักพัฒนา เป็นแบบอย่างที่ดีให้สังคมชื่นชมและศรัทธา ตามอัตลักษณ์ของมหาวิทยาลัยแม่โจ้ คือ “อดทน เข้มแข็ง ใฝ่รู้ มีคุณธรรม จริยธรรม”


ปรับปรุงข้อมูล 3/5/2567 15:40:10
, จำนวนการเข้าดู 0