ความเป็นมาเกษตรทฤษฎีใหม่
ปรัชญาแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง เป็นปรัชญาที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงมีพระราชดำรัสชี้แนะแนวทางการดำรงชีวิตแก่พสกนิกรชาวไทยมาโดยตลอดนานกว่า 40 ปีแล้ว (2517) ตั้งแต่ก่อนวิกฤติทางเศรษฐกิจ และเมื่อภายหลังได้ทรงเน้นย้ำแนวทางการแก้ไขเพื่อให้รอดพ้นและสามารถดำรงอยู่ได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน ภายใต้กระแสโลกาภิวัฒน์และความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ

ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง (ทางสายกลาง) แนวคิด : แนวทางการดำรงอยู่ การปฏิบัติตนในทุกระดับ ครอบครัว ชุมชน รัฐ - ในการพัฒนา บริหารประเทศ
หลักการ : พอประมาณ คือไม่มาก/น้อยเกินไป/ไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น, มีเหตุผล คือพิจารณาเหตุที่เกี่ยวข้อง/ ผลกระทบ, มีภูมิคุ้มกัน คือเตรียมตัวพร้อมรับผลกระทบ/การเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ
เงื่อนไข : ความรอบรู้ คือความรู้ในตัวคน ในหลักวิชา รอบคอบ ระมัดระวัง และคุณธรรม คือซื่อสัตย์ สุจริต ขยัน อดทน มีความเพียร แบ่งปัน
เป้าประสงค์ : เชื่อมโยงวิถีชีวิต/เศรษฐกิจ/สังคม/สิ่งแวดล้อม/การเมือง, สร้างสมดุล/มั่นคง/เป็นธรรม/ยั่งยืน พร้อมรับการเปลี่ยนแปลง

เกษตรทฤษฎีใหม่
เกษตรทฤษฎีใหม่ คือการจัดการทรัพยากรระดับไร่นา ที่ดิน แหล่งน้ำ เพื่อการเกษตรแบบผสมผสานบนที่ดินขนาดเล็กให้เกิดประโยชน์สูงสุด คู่ขนานด้วยหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เป็นการช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบความยากลำบากให้สามารถผ่านวิกฤติ โดยเฉพาะการขาดแคลนน้ำได้อย่างไม่เดือดร้อนและยากลำบากนัก การดำเนินงานมี 3 ขั้นตอน ดังนี้

ทฤษฎีใหม่ขั้นต้น
ขั้นที่ 1 ทฤษฎีใหม่ขั้นต้น (พออยู่พอกิน พึ่งตนเองได้) การจัดสรรพื้นที่ทำกินและที่อยู่อาศัย ให้แบ่งพื้นที่ออกเป็น 4 ส่วน ตามอัตราส่วน 30 : 30 : 30 : 10 ประกอบด้วย
ส่วนที่ 1 ให้ขุดสระน้ำเก็บกักน้ำฝนสำรองไว้ใช้ปลูกพืชในฤดูแล้งตลอด จนเลี้ยงสัตว์น้ำ พืชน้ำต่าง ๆ 30%
ส่วนที่ 2 ใช้ปลูกข้าวในฤดูฝน ซึ่งเป็นอาหารหลักให้เพียงพอตลอดปี ลดค่าใช้จ่าย พึ่งพาตนเองได้ 30%
ส่วนที่ 3 ปลูกไม้ผล ไม้ยืนต้น พืชผัก พืชไร่ พืชสมุนไพร เพื่อเป็นอาหารประจำวัน หากเหลือนำไปแบ่งปันเพื่อนบ้านและจำหน่าย 30%
ส่วนที่ 4 ที่อยู่อาศัย สัตว์เลี้ยง และโรงเรือน 10%
ทฤษฎีใหม่ขั้นกลาง
ขั้นที่ 2 ทฤษฎีใหม่ขั้นกลาง (พอมีอันจะกิน ชุมชนเข้มแข็ง) เมื่อเกษตรกรได้ปฏิบัติในที่ดินของตนจนได้ผลแล้วให้รวมพลังร่วมแรงร่วมใจในกลุ่มสหกรณ์ดำเนินการในด้านต่าง ๆ ดังนี้
1. การผลิต : ร่วมมือกันตั้งแต่เตรียมดิน หาพันธุ์พืช ปุ๋ย แหล่งน้ำ และอื่น ๆ
2. การตลาด : เมื่อมีผลผลิตแล้ว ควรเตรียม การโดยรวมกัน ขายให้ได้ประโยชน์สูงสุด
3. ความเป็นอยู่ : เกษตรกรต้องมีความเป็นอยู่ที่ดีพอสมควร มีปัจจัยพื้นฐาน การดำรงชีพที่พอเพียง
4. สวัสดิการ : ชุมชนควรมีสวัสดิภาพและบริการที่จำเป็น เช่น สถานีอนามัยเมื่อยามป่วยไข้ มีกองทุนไว้กู้ยืม
5. การศึกษา : ชุมชนควรส่งเสริมการศึกษา เช่น มีกองทุนเพื่อการศึกษาเล่าเรียนแก่เยาวชน สืบทอดภูมิปัญญาท้องถิ่น
6. สังคมและศาสนา : ชุมชนควรเป็นที่รวมในการพัฒนาสังคมและจิตใจ การแบ่งปันปลูกฝังจริยธรรม
ทฤษฎีใหม่ขั้นก้าวหน้า
ขั้นที่ 3 ทฤษฎีใหม่ขั้นก้าวหน้า (ประสานแหล่งทุน ครอบครัวมั่นคง) เมื่อเกษตรกรได้ดำเนินการผ่านขั้นที่สองแล้ว เกษตรกรจะมีรายได้ดีขึ้นฐานะมั่นคงขึ้น ควรพัฒนาให้ก้าวหน้า คือ ติดต่อประสานงาน เพื่อจัดหาทุนแหล่งเงิน เช่น ธนาคาร บริษัทห้างร้านเอกชน มาทำธุรกิจลงทุนพัฒนาและได้ประโยชน์ร่วมกัน ดังนี้
1. เกษตรกรขายผลผลิตในราคาที่เป็นธรรมไม่ถูกกดราคา
2. บริษัท ธนาคาร ผู้ประกอบการ สามารถซื้อผลผลิตจากเกษตรกรโดยตรงราคาจึงไม่สูงเกินไป
3. เกษตรกรสามารถซื้อเครื่องอุปโภค ปัจจัยการผลิต ในราคาขายส่งเพราะรวมกันซื้อ
4. ธนาคารหรือองค์กรต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง สามารถกระจายบุคคลากรเข้าดำเนินการ กิจกรรมต่าง ๆ ได้เกิดผลดียิ่งขึ้น

กิจกรรมในแปลงสาธิตเกษตรทฤษฎีใหม่ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ประกอบด้วย 9 กิจกรรมได้แก่
1. กิจกรรมการปลูกพืชผัก
2. กิจกรรมการปลูกกล้วย
3. กิจกรรมการปลูกไม้ผล ไม้ยืนต้น
4. กิจกรรมการปลูกข้าว
5. กิจกรรมการผลิตปุ๋ยหมักและน้ำหมักชีวภาพ
6. กิจกรรมการเลี้ยงไก่พื้นเมือง
7. กิจกรรมการเลี้ยงสุกรแบบประยุกต์
8. กิจกรรมการเลี้ยงปลาในกระชัง
9. กิจกรรมการปลูกพืชสมุมไพร

ท่านสามารถติดต่อเข้าศึกษาดูงานได้ที่ : 053-873429 งานสนับสนุนโครงการตามพระราชดำริ 053-873400 สำนักวิจัยและส่งเสริมวิชาการการเกษตร (ในวันและเวลาราชการ)

รับชมวีดิทัศน์ >> แนะนำแปลงสาธิตเกษตรทฤษฎีใหม่ตามแนวพระราชดำริ มหาวิทยาลัยแม่โจ้

English >> The New Theory Agriculture of Majesty King Bhumibol Adulyadej

Responsive image

Responsive image

Responsive image

Responsive image

Responsive image

Responsive image

Responsive image

Responsive image

Responsive image

Responsive image


ปรับปรุงข้อมูล 12/1/2567 16:20:57
, จำนวนการเข้าดู 0